วัฒนธรรมแอ่งสกลนคร ในความคิดของพ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว โดยส่วนมากแล้วคนมักเข้าใจว่าวัฒนธรรมหมายถึงการ้องรำทำเพลง มันเป็นเพียงความหมายแคบๆ เท่านั้น แต่ในความหมายของผม คำว่า วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของคนในชุมชน เป็นวิถีชีวิตแบบองค์รวมทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนถึงนอนแล้วนอนจนถึงตื่นขึ้นอื่น มันคือวิถีชีวิต การศึกษากับชีวิตและสังคมมันคืออันเดียวกัน เราอย่าไปแยกมันออกจากกัน ศึกษาแล้วแต่ไม่สามารถเอาไปใช้ในชีวิต แล้วจะเรียนรู้ไปทำไม นั่นเป็นเรื่องสำคัญ การศึกษากับชีวิตและสังคมเป็นเรื่องเดียวกัน ฉะนั้นวัฒนธรรมก็คือการใช้ชีวิตแบบองค์รวม การยืน เดิน นั่ง นอน ว่ามีปัจจัยมาจากอะไร เขาเลี้ยงดูเราจนเจริญเติบโต เขามีวิถีอย่างไร สิ่งที่ได้มามาจากตรงไหน ต้องค้นหารากเหง้าของชีวิตตนเอง ของครอบครัว ของชุมชน เหมือนต้นไม้ถ้าไม่มีรากแก้วมีแต่รากฝอยมันก็อยู่ได้ไม่นาน คำว่าแอ่งสกลนคร ก็หมายถึง รากเหง้าของชีวิตที่อยู่ที่นี่ อยู่ในท้องถิ่นนี้ ผมคิดว่าวัฒนธรรมทุกที่ไม่ว่าของตะวันตกหรือตะวันออกล้วนดีหมด เพียงแต่วัฒนธรรมของแต่ละที่ก็เหมาะสมกับที่นั้นๆ ถ้าหากไม่เหมาะสมเขาก็คงอยู่ไม่ได้ ทำอย่างไรเราจะไปเรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะสมกับของเรา ที่เป็นรากเหง้า เช่น ของเราเป็นรากมะม่วง จะไปเอาไม้เปลือยหรือไม้พยูงมาต่อมันคงจะไม่ติดหรือติดก็คงไม่ยั่งยืน เดี๋ยวนี้เราลืมรากเหง้าของเรามาก หรือ ที่เรียกว่า กำพืด อย่างเช่นพวกนักวิชาการเกษตร ในแอ่งสกลนครนี้มีพืชเยอะแยะมากมาย เช่น ผักกะโน ผักอีฮีน ผักขะแยง หมากเม่า หมากค้อ ฯลฯ แต่กลับส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน มันสำปะหลัง ปลูกได้แต่ถามว่ายั่งยืนไหม อะไรมันยั่งยืนกว่ากัน นี่คือการไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามีอยู่
เว็บไซต์รายวิชาวัฒนธรรมแอ่งสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร